วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2554

จุดเด่นของเครนพับ

เครนยกของที่ติดตั้งกันบนรถบรรทุก มักจะนิยมกันอยู่ 2 ประเภท คือเครนพับ (Knuckle boom Crane) และเครนสลิง หรือเครนแขนตรง หรือเครนแข็ง
จุดเด่นของเครนพับ
  1. การทำงานของเครนพับ จะมีความคล่องตัวกว่าเครนแข็ง ในการยกวัสดุต่างๆ เช่น ใช้พื้นที่น้อยกว่า มุมในการยกกว้างกว่า
  2. การยกน้ำหนัก - เครนพับรุ่นมาตรฐาน ยกน้ำหนักด้วยฮุค (Hook) และสามารถติดตั้งกว้านไฮดรอลิกช่วยในการยกได้ แต่เครนแข็งยกน้ำหนักด้วยกว้าน (winch) ซึ่งความสามารถของกว้านจะคงที่ ดังนั้นเมื่อยืดแขนบูมให้ยาวขึ้น ความสามารถในการยกน้ำหนักจะลดลง แต่กว้านยังคงยกน้ำหนักได้คงที่ หากผู้ใช้ยังคงยกน้ำหนักตามความสามารถของกว้าน จะทำให้เครนหักได้
  3. การยืดของบูม - เครนพับใช้ระบบไฮดรอลิกในการยืดบูม กระบอกไฮดรอลิกจะอยู่ด้านนอกซอง ทำให้ซ่อมบำรุงรักษาได้ง่าย สำหรับเครนแข็ง ใช้สลิงและรอกเป็นตัวดึง ให้บูมเคลื่อนที่ออก ซึ่งทั้งหมดประกอบอยู่ภายในซองของบูม ก่อนใช้งานต้องปรับตั้งทุกวัน และเมื่อเกิดการชำรุดจะต้องถอดซ่อมทั้งหมด
  4. ความแข็งแรงของบูม - เครนแข็งมีลักษณะบูมเป็นสี่เหลื่ยม ซึ่งตามหลักการทางวิศวกรรมแล้ว มีความแข็งแรงน้อยกว่าซองรูปหกเหลี่ยมของเครนพับ
  5. ความปลอดภัย - เครนแข็งไม่มีระบบป้องกันความปลอดภัยจากการยกน้ำหนักเกินพิกัด เนื่องจากเป็นการยกน้ำหนักด้วยกว้าน เครนพับมีระบบ load holding valve, relief valve, overload protection valve ซึ่งป้องกันการยกเกินพิกัด เพิ่มความปลอดภัยในการทำงาน
  6. ชุด Control Valve - ชุดคอนโทรลวาล์วของเครนแข็งจะสร้างรวมเป็นชุดเดียวกัน ดังนั้นเมื่อเกิดการชำรุดสึกหรอ จะต้องถอดเปลี่ยนทั้งชุด แต่ของเครนพับ จะไม่ได้รวมกันเป็นชุดเดียว จึงสามารถถอดเปลี่ยนเฉพาะชุดที่สึกหรอได้
  7. โครงสร้างของฐานเครน - โครงสร้างของฐานเครนสำหรับเครนแข็ง จะใช้งานหล่อ ซึ่งงานหล่อนั้นจะทำให้ความแข็งแรงของโครงสร้างลดลง เนื่องจากรูพรุน หรือโพรงอากาศ ดังนั้นเพื่อให้ได้ความแข็งแรงมากขึ้น จึงต้องหล่อฐานเครนให้มีขนาดใหญ่กว่าปกติ จึงทำให้มีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น แต่ฐานของเครนพับ ส่วนใหญ่จะใช้เหล็กแผ่นมาเชื่อมขึ้นรูป ทำให้ได้ความแข็งแรงมากกว่า และนำ้หนักเบากว่า  เมื่อเทียบกับเครนแข็ง ที่มีพิกัดการยกเท่ากัน
  8. บุชที่ฐานเครน - สำหรับเครนแข็งเป็นชนิดธรรมดา รับแรงกดได้น้อย อายุการใช้งานสั้นกว่า บุชของเครนพับส่วนใหญ่ ซึ่งทำจากเทฟลอน สามารถรับแรงกดได้สูง อายุการใช้งานนานกว่า 
  9. การยืดของ Extension Boom - สำหรับเครนพับ ส่วนใหญ่ใช้ Hydraulic oil และใช้ระบบช่วยให้ยืดได้เร็วขึ้น โดยให้น้ำมัน Hydraulic ไหลกลับเสริมเข้าไปทางด้าน High Pressure ทำให้เคลื่อนที่ได้เร็วขึ้น
  10. คุณภาพของเหล็ก - เครนแข็งโดยทั่วไป มี Ultimate Strength ไม่เกิน 450 N/sq mm. สำหรับเครนพับ ใช้เหล็กที่มี Ultimate Strength 960 N/sq mm. ซึ่งมีความแข็งแรงมากกว่า และมีน้ำหนักเบากว่า
บริษัท ชัยนันท์อิควิปเม้นท์ จำกัด ตัวแทนจำหน่าย เครน รถเครน เครนยกของ เครนพับ เครนไฮดรอลิก เครนไฮดรอลิค อุปกรณ์เครน และอะไหล่เครน 

วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เครน เครนพับ เครนติดรถบรรทุก รถเครน



ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ ประเทศไทยได้มีการใช้เครนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวทางเศรษกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งการก่อสร้างสาธารณูปโภค และสาธารณูปการต่างๆของภาครัฐ เช่น การก่อสร้างสนามบิน การก่อสร้างถนน และการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรม การพัฒนาด้านการขนส่ง และการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชน ซึ่งในแต่ละส่วนภาคนั้นถือได้ว่ารถเครน มีส่วนสำคัญในการก่อสร้างการยกย้าย ติดตั้ง รวมทั้งการพัฒนาประเทศในรูปแบบต่าง ๆ 


รถเครนซึ่งเป็นรถบรรทุกเฉพาะกิจ (ปั้นจั่น) ที่แตกต่างจากรถบรรทุกชนิดอื่นหรือรถพ่วง คือ มีตัวเครนหรือปั้นจั่นติดอยู่กับตัวรถ และมิได้นำไปบรรทุกสิ่งของรถประเภทนี้เป็นรถที่ใช้ยกสิ่งของหรือวัสดุ โดยเฉพาะในงานก่อสร้างโครงการต่าง ๆ เช่น สร้างอาคารสถานที่ ถนน สะพาน สนามบินสุวรรณภูมิ โรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ ที่เป็นทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน
รถเครนส่วนใหญ่ในประเทศไทย ได้ซื้อมาจากประเทศในแถบยุโรป เช่น เยอรมันนี ออสเตรีย และประเทศญี่ปุ่น โดยที่ประเทศเยอรมันถือเป็นต้นกำเนิดในการผลิตรถเครนที่นิยมใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายทั่วโลก และในเวลาต่อมาประเทศญี่ปุ่นได้มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น จึงเริ่มพัฒนาการผลิตรถเครนเป็นรายต่อมา เครนยุโรปที่ได้รับความนิยมในไทย เช่่น PALFINGER ของประเทศออสเตรีย และเครนญี่ปุ่น เช่น TADANO , KATO แต่ในปัจจุบันนี้มีตลาดการผลิตรถเครนเกิดขึ้นใหม่ล่าสุดคือที่ประเทศจีน โดยมีผู้ผลิตมากกว่า 100 ราย ที่กำลังแข่งขันกันผลิตรถเครน เพื่อนำสินค้าเข้าสู่ตลาดโลก รวมถึงเครนยุโรปหลายรุ่นก็เริ่มไปตั้งโรงงานที่จีนมากขึ้น เนื่องจากต้นทุนที่ถูกกว่า ดังนั้นจึงถือได้ว่าประเทศจีนเป็นคู่แข่งที่สำคัญอีกประเทศหนึ่งในอนาคต ซึ่งถือเป็นทางเลือกใหม่ให้แก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ 

นิยามของคำว่า “เครน” ตามภาษาของทางราชการ เรียกว่า “ปั้นจั่น
ปั้นจั่น” หมายความว่า เครื่องจักรกลที่ใช้ยกสิ่งของขึ้งลงตามแนวดิ่งและเคลื่อนย้าย สิ่งของเหล่านั้น ในลักษณะแขวนลอยตามแนวราบ

ประเภทของเครนในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้

1. ปั้นจั่นชนิดเคลื่อนที่ (Mobile Crane)
คือ ปั้นจั่นที่ประกอบด้วยอุปกรณ์ควบคุมและเครื่องต้นกำลังอยู่ในตัว ซึ่งติดตั้งอยู่บนยานที่ขับเคลื่อนในตัว ดังนี้
1.1 Rough Terrain เป็นรถเครนขนาดยาง 4 ล้อ มียางขนาดใหญ่ จึงสามารถใช้ความเร็วในการขับเคลื่อนได้ประมาณ 40 กม./ชม.
1.2 Truck Crane รถเครนที่มีล้อยางมากกว่า 4 ล้อ ขึ้นไป โดยสามารถใช้ความเร็วในการขับเคลื่อนได้ประมาณ 80 กม./ชม. แต่สามารถใช้เฉพาะเพลาหน้าในการเลี้ยว
1.3 All Terrain Crane รถเครนที่มีล้อยางมากกว่า 4 ล้อ ขึ้นไป โดยสามารถใช้ความเร็วในการขับเคลื่อนได้ประมาณ 80 กม./ชม. แต่สามารถใช้เพลาได้ทุกเพลาในการเลี้ยว
1.4 Crawler Crane เครนที่มีล้อเป็นตีนตะขาบ ไม่สามารถวิ่งบนท้องถนนได้ หากต้องการใช้งานต้องนำใส่รถเทรลเล่อร์ไป
1.5 Heavy Lift Crane เครนสำหรับยกของหนัก เป็นเครนที่ติดตั้งอยู่กับที่ ใช้ในหน่วยงานเท่านั้น ไม่สามารถเคลื่อนย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งได้
1.6 Lorry Crane or Truck Loader Crane or Boom Truck Crane เป็นรถติดเครน หรือ รถบรรทุกติดเครนสามารถวิ่งไปตามท้องถนนได้ด้วยตัวเอง

2. ปั้นจั่นชนิดอยู่กับที่ (Stationary Crane)
คือ ปั้นจั่นที่ประกอบด้วยอุปกรณ์ควบคุมและเครื่องต้นกำลังอยู่ในตัว ซึ่งติดตั้งอยู่บนหอสูงขาตั้งหรือบนล้อเลื่อน
2.1 Tower Crane เครนหอสูงหรือปั้นจั่นหอสูง โดยทั่วไปมักใช้ก่อสร้างตึกสูงในเมือง
2.2 Overhead Crane เครนราง ส่วนใหญ่ใช้ที่ท่าเรือต่าง ๆ สำหรับลำเลียงตู้คอนเทนเนอร์
2.3 Semi Gantry Crane เครนขาสูงแบบข้างเดียว เป็นเครนที่ไว้ใช้งานในโรงงานเท่านั้น
2.4 Wall Crane- Jib Crane เครนติดผนัง โดยทั่วไปใช้ในการยกสิ่งของเบา ๆ ภายในห้องปฏิบัติการ
2.5 Gantry Crane เครนขาสูง มักพบการใช้งานอยู่ภายในโรงงาน เช่นโรงงานเหล็ก หรือ ท่าเรือ
2.6 Gantry Crane เครนที่ใช้บริเวณท่าเรือต่าง ๆ ทั่วโลก ใช้สำหรับยกตู้คอนเทรนเนอร์สินค้าขึ้น-ลงเรือ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: บทความวิชาการ ฉบับที่ 1 เรื่อง รถเครนในประเทศไทย โดย นายธงชัย เจริญรัชเดช